Tuesday, December 20, 2011

หนึ่งคำกระตุ้นความคิด

“ถ้าสุขภาพใจดี อะไรๆ ก็ดีได้เนอะ
ก็มีคนเป็นกำลังใจให้ไง
เอกก็เป็นส่วนหนึ่ง
มีกัลยาณมิตรช่างดีจริงๆ ส่งเสริมความเจริญให้ชีวิต”

          ในชีวิตนี้ก็ไม่เคยคิดว่าจะมีใครเรียกผมว่า “กัลยาณมิตร” ตรงๆ แบบนี้มาก่อน มันเป็นความรู้สึกที่ต่างออกไปจากแค่คำว่าเพื่อนที่ดี คงเป็นเพราะคำศัพท์มันดูหรูหราขึ้นล่ะมั้ง พอได้ยินคำพูดที่พูดถึงตัวเองทีไร ผมมักจะใช้เวลาพิจารณาตัวเองอยู่เสมอ อธิบายตัวเองอีกครั้งว่าตัวเองมีบุคคลิกอย่างไร มีความคิดอย่างไร เวลากว่าหนึ่งในสี่ของชีวิตผม ผมใช้เพื่อพิจารณาตัวเอง ไม่ว่าทุกคนจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ผมเรียนรู้อย่างจริงจังที่สุดและผมรู้ดีที่สุด คือ “ตัวผมเอง”

          ผมก็ไม่รู้ว่า ผมมีค่าคู่ควรถึงคำว่ากัลยาณมิตรนั่นหรือเปล่า ถ้าให้พูดกันตามตรง ผมเองก็จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าทำอะไรให้เป็นกัลยาณมิตร ด้วยสมองที่บอดสีของผม ผมมักมองโลกในมุมที่ต่างจากคนอื่นเล็กน้อย นั่นคงเป็นหนึ่งในการกระทำเล็กๆ ของผม ที่ทำให้ผมเป็นคนที่ต่างจากคนอื่น

หากคุณเห็นโลกสดใส ผมว่ามันก็ไม่ได้สดใสอย่างที่คุณเห็น
แต่เมื่อคุณเห็นโลกเป็นศัตรู ผมว่าโลกมันก็ไม่ได้โหดร้ายอย่างที่คุณคิด
ผมไม่ได้คิดต่าง
ผมไม่ได้ต่อต้าน

…ทุกขณะ…
…ทุกเวลา…
…ทุกวินาทีที่หัวใจผมเต้น…
ผมเห็นโลกทั้งสองมุมมองในเวลาเดียวกัน

นั่นคือเหตุผลว่า เพราะอะไร?
ผมถึงดูไม่สนุก ไม่เฮฮามากมาย ในเวลาที่ผู้คนสังสรรค์กันอย่างครื้นเครง
และ
ผมถึงดูไม่ทุกข์ไม่ร้อน ในยามที่เหมือนจะหมดสิ้นหนทาง หรือเผชิญหน้ากับปัญหา

          ด้วยบุคคลิกส่วนตัวที่เป็นแบบนี้ ผมคงเป็นที่พึ่งได้สำหรับคนที่ต้องเผชิญกับปัญหา คนที่รู้สึกสิ้นหวัง ผิดพลาด หรือคิดว่าโลกนี้ช่างโหดร้ายเหลือเกิน เพราะความคิดของผม คงช่วยจุดประกายความหวังเล็กๆ ขึ้นในใจทุกคน แต่สำหรับคนที่กำลังมีความสุขล้นอยู่ ผมก็คงเป็นเหมือนเมฆหมอก ที่บดบังความสวยงามที่อยากเห็นจนทำให้เห็นเพียงลางเลือน

          ที่เขียนอยู่นี้ก็เป็นตัวอย่างของความคิดสองมุมมองที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันในหัวของผมเอง มันเป็นแบบนี้เสมอๆ ผมไม่ได้ดูแคลนตัวเอง ผมไม่ได้ภาคภูมิใจในตัวเองที่เป็นแบบนี้ ผมเพียงแค่ “เข้าใจตัวเอง” ก็เท่านั้นเอง

ขอบคุณ
คำว่า กัลยาณมิตร ที่มอบให้
จะขอเป็นตัวแทนของผู้ไม่เคยสิ้นหวังสืบไป

Tuesday, December 13, 2011

ความหมายของกรุงเทพมหานคร

by เอกกี้

          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงพระราชทานนามอันเป็นสิริมงคลแก่เมืองหลวงแห่งใหม่นี้ว่า

“กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์
มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ
นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์
อุดมราชนิเวศน์
มหาสถานอมรพิมานอวตารสถิต
สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”

ผมขอให้คำแปลอย่างหรูๆ ไว้ดังนี้

“เมืองหลวงอันกว้างใหญ่ดุจเมืองสวรรค์ ยิ่งด้วยพระแก้วมรกตอันประเสริฐประดิษฐสถานไว้
เป็นผืนแผ่นดินแห่งพระอินทร์อันเลิศยิ่ง ปราศจากสงครามใดๆ
เมืองอันน่ารื่นรมย์นี้เป็นเมืองแห่งกษัตริย์ผู้ถึงพร้อมด้วยแก้วเก้าประการ
บริบูรณ์ด้วยพระราชวัง อันเป็นที่ประทับแสนยิ่งใหญ่แห่งเทพผู้อวตารลงมาตราบจนนิรันดร
ซึ่งท้าวสักกะเทวราชา ได้พระราชทานให้พระวิษณุกรรมมาเนรมิตไว้จนสำเร็จ”

******************************

          ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จะพระราชทานนามแก้ไขท่อนสร้อยหนึ่งจาก “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์” นั่นคือเปลี่ยนคำว่า

บวร-ประเสริฐ,ล้ำเลิศ
เป็นคำว่า
อมร-ผู้ไม่ตาย,เทวดา

น่าเสียดายที่หลังจากนั้น ในยุคสมัยภายใต้เผด็จการทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร ก็มีการรวมการบริหารของกรุงเทพฯ เข้าร่วมกับธนบุรี เป็นเขตการปกครองพิเศษ แต่มีศักดิ์เทียบเท่ากับจังหวัด ขานชื่อเหลือแค่เพียงว่า “กรุงเทพมหานคร” เท่านั้น

******************************
รัตนโกสินทร์
รัตนะ-แก้ว; โกสินทร์-พระอินทร์

          หากแปลตรงตัวก็คงจะเป็น พระอินทร์แก้ว แต่คำว่า “โกสินทร์” ในที่นี่น่าจะจงใจหมายถึงเทวดา หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ นั่นก็คือ พระแก้วมรกต (พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทยนั่นเอง

******************************
มหินทรายุธยา
          มหินทร์-พระอินทร์; อยุธยา-เมืองที่ไม่มีการสู้รบ,ปราศจากสงคราม

          แท้จริงจะต้องสะกดด้วย “มหินท์” แต่เพราะเป็นภาษาต่างชาติ การสะกดเป็น “มหินทร์” จึงไม่ผิดเช่นกัน รากศัพท์อีกคำคือ “โยธา” หมายถึง พลรบ,ทหาร ส่วน “โยธยา” ก็คือการใช้กำลังรบ เมื่อมีการเติมคำที่มีความหมายตรงข้าม คือ “อ-” ข้างหน้า จึงผันเป็น “อโยธยา” หรือ “อยุทธยา”จึงแปลได้ว่าเป็นเมืองที่ปราศจากสงครามนั่นเอง อย่างไรก็ตาม หากหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ท เรามักจะพบคำแปลในวรรคนี้ว่า “เป็นเมืองที่ใครๆ ก็ไม่สามารถรบชนะได้” ซึ่งก็เป็นความหมายที่ไม่น่าจะผิดเช่นเดียวกัน

******************************
มหาดิลกภพ
ดิลก-เลิศเลอ, ยอดเยี่ยม, ยกย่อง, เฉลิม ; ภพ-แผ่นดิน

******************************
นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์
นพรัตน์-แก้วเก้าประการ ; ราชธานี-เมืองแห่งกษัตริย์, เมืองหลวง ; บุรีรมย์-เมืองอันน่ารื่นรมย์

          ในวรรคนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากในคำว่า “นพรัตน์” หลายตำราแปลตรงตัวว่า รัตนะทั้งเก้า ซึ่งเป็นอัญมณีที่มีค่ามาก ๙ ชนิดคือ เพชร, ทับทิม, มรกต, บุษราคัม, โกเมน, นิล, มุกดา, เพทาย และไพฑูรย์ นั่นคือ มองคำว่า “นพรัตน์” เป็นคำนามที่ใช้ขยายคำว่า “ราชธานี” จึงมีการแปลโดยให้ความหมายว่าเป็นเมืองที่มั่งคั่ง น่ารื่นรมย์ ด้วยอัญมณีล้ำค่าเหล่านั้น
          แต่ในที่นี้ ผมขอถอดความหมายให้ลึกขึ้นไปอีก โดยมองคำว่า “นพรัตน์ราชะ” สมาสกับคำว่า “ธานี” เพื่อให้คำว่านพรัตน์ใช้ชี้ลักษณะของกษัตริย์แทน กลายความหมายว่า พระราชาที่ถึงพร้อมด้วยแก้วเก้าประการ
          แก้วเก้าประการ ในที่นี้อาจจะต้องกลับไปอธิบายถึงความเชื่อเกี่ยวกับอัญมณีทั้ง ๙ ชนิดข้างต้น ด้วยตำราโบราณมีมาแต่ช้านานเกี่ยวกับการมีรัตนชาติไว้ในครอบครองจะช่วยสงเสริมดวงชีวิตให้ดี และมั่นคงยิ่งขึ้น คุณสมบัติของนพรัตน์มีดังนี้
๑. เพชร มีความหมายถึง ความแข็งแกร่ง ให้พลัง ให้ความเจริญ
๒. ทับทิม มีความหมายถึง สุขภาพที่ดี มิให้เจ็บไข้ได้ป่วย
๓. มรกต มีความหมายถึง ความคุ้มครอง ปกป้องจากศัตรูผู้ปองร้าย
๔. บุษราคัม มีความหมายถึง การมีอายุยืนนาน
๕. โกเมน มีความหมายถึง การมีคนเคารพนับถือ ยกย่อง
๖. นิล มีความหมายถึง ความสงบสุข
๗. มุกดา มีความหมายถึง การปกป้องจากภัยอันตรายจากธรรมชาติ จากงูหรือสัตว์อื่นๆ
๘. เพทาย มีความหมายถึง โชคลาภ
๙. ไพฑูรย์ มีความหมายถึง ชัยชนะ
จากที่ว่ามานี้ คำว่า “นพรัตน์” อาจจะเป็นการเล่นคำในเชิงความหมายก็ได้ ตามตำราแล้วเป็นสิ่งที่เป็นมงคลยิ่งไม่ว่าจะหมายถึงบ้านเมือง หรือหมายถึงกษัตริย์ก็ตาม

******************************
อุดมราชนิเวศน์
อุดม-บริบูรณ์, เต็มไปด้วย, มากมาย ; ราชนิเวศน์-ที่ประทับของกษัตริย์, วัง

******************************
มหาสถานอมรพิมานอวตารสถิต
มหาสถาน-สถานที่อันยิ่งใหญ่ ; อมร-ผู้ไม่ตาย, เทวดา ; พิมาน-ที่อยู่ของของเทวดา ;
อวตาร-ภาคหนึ่งของเทวดา ; สถิต-ตั้งอยู่

          ด้วยความเชื่อและลักษณะการปกครองของสยาม ที่ถือว่าพระมหากษัตริย์เปรียบดั่งสมมติเทพ เป็นภาคหนึ่งของร่างอวตารของพระนารายณ์ตามตำราพราหมณ์ พระราชวัง จึงเป็นดั่งที่ประทับของสมมติเทพนั่นเอง

******************************
สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์
ทัต-ให้ ; ประสิทธิ์-ความสำเร็จ, ทำให้สำเร็จ

          วรรคนี้มีชื่อของเทวดาถึงสององค์ด้วยกันคือ “สักกะ” และ “วิษณุกรรม” แปลตรงตัวจากวรรคนี้ก็คือ ท้าวสักกะให้พระวิษณุกรรมสร้างขึ้น หรืออาจแปลให้สวยงามดังเช่นที่เขียนไว้ข้างต้นนั่นเอง
          ว่ากันที่ท้าวสักกะเทวราชา ก่อนแล้วกัน คำว่า “สักกะ” ถ้าแปลตามพจนานุกรมจะหมายถึง “พระอินทร์” ซึ่งเป็นราชาแห่งเทพทั้งปวง แต่หากแปลตามความหมายจะหมายถึง “ผู้องอาจ” จะว่าไปแล้วพระอินทร์ที่คนไทยรู้จักกันดีนั้น ก็มีการขานชื่อตามวรรณกรรมต่างๆ มากมาย ขึ้นอยู่กับการสัมผัสคำกลอนหรือเพื่อความงดงามทางภาษา เช่น ท้าวสหัสเนตร ท้าวสหัสนัยน์ ท้าวสักกะเทวราช ท้าวมัฆวาน ฯลฯ นอกจากนี้ถ้าเทียบกับวัฒนธรรมประเทศอื่น ท้าวสักกะเทวราชนี้ก็จะรู้จักในนาม 帝釋天 (ตี้ซื่อเทียน) หรือ 釋提桓因 (ซื่อถีหวันอิน) ในภาษาจีน หรือ 帝釈天 (ไทชะกุเท็น) ในภาษาญี่ปุ่น
          ส่วน พระวิษณุกรรม นั้น แท้จริงแล้วชื่อตามตำราพราหมณ์คือ พระวิศวกรรมา ซึ่งเป็นเทวดาผู้สร้าง นับเป็นเทพแห่งวิศวกรรม แต่เพราะคนไทยคุ้นเคยกับเทพอีกองค์ คือ พระวิษณุ ด้วยเหตุนี้คนไทยจึงขานนามพระวิศวกรรมา เป็น “พระวิษณุกรรม” แทน จึงมีหลายต่อหลายคนที่เข้าใจผิด คิดว่า “พระวิษณุ” เป็นเทพแห่งวิศวกรรม ในที่นี้จึงจะขอสรุปให้เข้าใจว่า พระวิษณุ และ พระวิษณุกรรม (พระวิศวกรรมา) เป็นเทพคนละองค์กัน
          ตามตำนานในพระพุทธศาสนา กล่าวได้ว่า พระวิศวกรรมา (พระวิษณุกรรม) เป็นเทพผู้สร้าง เชียวชาญสถาปนิกและวิศวกรรมทุกแขนง เป็นผู้สร้างอาศรมให้แก่พระโพธิสัตว์หลายพระองค์ เป็นผู้เนรมิตบันไดเงิน บันไดทอง และบันไดแก้ว ทอดยาวจากสวรรค์มาสู่โลกมนุษย์
          ตามตำนานของศาสนาฮินดู และพราหมณ์ พระวิศวกรรมา ก็เป็นผู้สร้างศาสตราวุธที่งดงาม ทอแสงด้วยรัศมีแห่งดวงอาทิตย์ คือ ตรีศูลของพระอิศวร จักราวุธของพระนารายณ์ วชิราวุธของพระอินทร์ คทาวุธของท้าวกุเวร และ โตมราวุธของพระขันทกุมาร เป็นต้น
          นอกจากนี้ ยังมีผลงานที่กล่าวถึงในวรรณกรรมที่สำคัญ ได้แก่ เป็นผู้สร้างกรุงลงกาให้แก่ทศกัณฐ์ (ในวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ หรือ รามายณะ), เป็นผู้สร้างวิมานให้แก่พระวรุณ (เทพแห่งสายน้ำ)และพระยม (เทพแห่งความตาย), เป็นผู้สรางราชรถบุษบกให้แก่ท้าวกุเวร, เป็นผู้สร้างกรุงทวารกาให้แก่พระกฤษณะ (ในวรรณกรรมเรื่องมหาภารตะ) และยังเป็นผู้ปั้นนางติโลตตมา นางฟ้าที่งดงามที่สุดบนสวรรค์ด้วย
          ดังนั้น ในวรรคสุดท้ายของชื่อกรุงเทพฯ นี้ จึงหมายถึงความงดงาม ความอลังการ ของเมืองหลวงซึ่งถูกเนรมิตขึ้นด้วยฝึมือของเทวดาที่มีฝึมือที่สุดในสรวงสวรรค์ อันได้รับบัญชาจากเทวราชา ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในสวรรค์ พระราชทานให้เนรมิตขึ้นนั่นเอง